ประวัติและผลงานหลวงพ่อพระมหาทองคำ จิตฺตธมฺโม รองเจ้าอาวาสวัดนายโรง กทม. ผู้ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนคำผงวิทยา

หลวงพ่อพระมหาทองคำ จิตฺตธัมฺโม (สกุลลักษณ์)
อดีตรองเจ้าอาวาสวัดนายโรง บางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
ผู้ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนคำผงวิทยา (นารายณ์คำผงวิทยา ในปัจจุบัน)

ชาติกำเนิด
หลวงพ่อพระมหาทองคำ จิตฺตชมฺโม (ทองคำ สกุลลักษณ์) เกิดวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 ที่บ้านอีแฮด หมู่ 12 เป็นบุตรคุณพ่อแก้ว สกุลลักษณ์ อดีต กำนันตำบลหนองหลวง-คำผง และคุณแม่คูณ สกุลลักษณ์ ท่านเป็นพี่ชายอาจารย์ปนาวัฒน์ สกุลลักษณ์ อดีตผู้รักษาการในตำแหน่ง อาจารย์ใหญ่โรงเรียนคำผงวิทยา (นารายณ์คำผงวิทยา ในปัจจุบัน)  และ พ.อ. ประยงค์ สกุลลักษณ์

การศึกษาและอุปสมบท
หลังจากจบการศึกษาประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดบุปผาราม บ้านคำผง แล้วได้ออกบรรพชาอุปสมบทที่วัดบุปผาราม บ้านคำผง สอบได้นักธรรมชั้นเอก แล้วย้ายไปจำพรรษาที่วัดนายโรง บางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค

ประสบการณ์การทำงาน
1.ได้รับแต่งตั้งเป็นรองเจ้าอาวาสวัดนายโรง บางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
2.ได้รับแต่งตั้งเป็นพระกรรมวาจาจารย์
3.เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาพระพุทธศาสนาโรงเรียนมัธยมวัดนายโรง

การส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
เป็นผู้นำเชิญชวนศิษยานุศิษย์ร่วมจัดทำบุญกฐิน – ผ้าป่า มาทอดถวายที่วัดบุปผาราม บ้านคำผง ไม่น้อยกว่า 20 ครั้ง เพื่อพัฒนาวัดในด้านต่าง ๆ เช่น

1. ปี พ.ศ. 2530 สร้างพระอุโบสถวัดบุปผาราม เสร็จภายใน 2 ปี ด้วยงบประมาณ 800,000 บาท
2. ปี พ.ศ. 2536 สร้างหอระฆังวัดบุปผาราม ด้วยงบประมาณ 130,000 บาท
3. ซื้อที่ดินที่คิดกับเขตวัดบุปผารามด้านตะวันออก บริเวณที่สร้างเมรุปังจุบัน จำนวน 7 ไร่ ด้วยงบประมาณ 170,000 บาท
4. สร้างศาลาการเปรียญ 1 หลัง ที่บ้านอีแฮด
5. สร้างศาลาการเปรียญ 1 หลัง ที่บ้านน้อยขยูง

งานพัฒนาในพื้นที่ชุมชน
1. เป็นผู้นำคิดริเริ่มในการขอจัดตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาขึ้นในพื้นที่ชนบทที่ห่างไกล ท่านมองเห็นว่าผู้ปกครองหรือชาวบ้านส่วนใหญ่มีฐานะยากจนไม่มีความสามารถที่จะส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาที่อยู่ในเมือง ซึ่งระยะทางห่างไกล มีปัญหาจิปาฉะ เช่น พาหนะเดินทาง ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จึงได้ดำเนินการขอจัดตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาขึ้น ประกอบกับความเป็นพระสงฆ์ของท่านทำให้ได้รับการอำนวยความสะดวกจากเจ้าหน้าที่ในการติดต่อประสานงานกับผู้บริหารระดับสูง คือ อธิบดีกรมสามัญศึกษาในสมัยนั้น ในที่สุดการดำเนินการขอจัดตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาก็สำเร็จลุล่วงด้วยดี โดยกรมสามัญศึกษาได้อนุญาตให้เปิดทำการเรียนการสอนได้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2520 ในชื่อว่า “โรงเรียนคำผงวิทยา” ต่อมาจึงได้เปลี่ยนเป็น “โรงเรียนนารายณ์คำผงวิทยา” ในปัจจุบัน

2. เป็นผู้นำการพัฒนาสถานีอนามัย ตำบลคำผง เชิญชวนชาวบ้านทำผ้าป่าเพื่อสร้างอาคารโรงพยาบาลลูกชาวนา ให้กับสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคำผงในปัจจุบันขึ้นหนึ่งหลัง เป็นอาคารชั้นเดียว กว้าง 11 เมตร ยาว 20 เมตร เตียงนอนผู้ป่วย 11 เตียง ห้องน้ำ 3 ห้อง เครื่องมือทางการแพทย์อื่น ๆ อีก รวมมูลค่า  ทั้งสิ้น 635,000 บาท

3. ริเริ่มขอจัดตั้งโรงเรียนการศึกษาผู้ใหญ่วัดบุปผาราม บ้านคำผง เปิดทำการสอนมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2519 ปัจจุบันยุบเลิกแล้ว

วาระสุดท้ายแห่งชีวิต
ท่านได้ถึงแก่มรณภาพจบชีวิตลงอย่างไม่คาดคิดมาก่อน เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2536 ท่านได้นำคณะผ้าป่าจากกรุงเทพฯ มาถวายที่วัดบุปผาราม บ้านคำผง ทอดวันที่ 13 เมษายน แต่ท่านมีภารกิจสำคัญก็เลยเดินทางกลับกรุงเทพฯ ก่อนในคืนวันที่ 12 เมษายน โดยรถทัวร์โดยสารจากสำโรงทาบ ตามถนนสาย 226 ถึงบริเวณอำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมาเวลาประมาณ 23.00 น. รถทัวร์คันที่ท่านนั่งไปเกิดอุบัติเหตุชนประสานงากับรถบรรทุกสิบล้ออย่างแรง ร่างของท่านได้รับการกระทบกระแทกอย่างแรงถึงแก่มรณภาพคาที่ ญาติพี่น้องชาวบ้านคำผงเมื่อทราบข่าวก็แสดงความเสียอกเสียใจสร้างความสะเทือนใจให้กับผู้ที่เดารพศรัทธาท่านอย่างมากที่ต้องสูญเสียคนดีซึ่งเป็นพระนักพัฒนาที่มีความสามารถคนหนึ่ง

ท่านหลวงพ่อพระมหาทองคำ ท่านได้ทำประโยชน์ให้ไว้แก่ถิ่นกำเนิดบ้านเกิดของท่านอเนกอนันต์นานัปการ ท่านใช้ชีวิตฆราวาส 20 ปี อยู่ในเพศบรรพชิต 42 ปี รวมตลอดชีวิตของท่าน 62 ปี ท่าน สร้างแต่คุณงามความดีสร้างประโยชน์ให้กับสังคมส่วนรวมทั้งศาสนาวัฒนธรรมและสาธารณะประโยชน์ทั่วไป นับว่าเป็นบุคคลที่ใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณค่า ถือว่าท่านเป็นผู้ที่มีคุณูปการต่อสังคมและบ้านเมืองโดยเฉพาะโรงเรียนนารายณ์คำผงวิทยาของเรา ที่ท่านเป็นผู้ริเริ่มขอจัดตั้ง จึงเห็นสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องจารึกคุณงามความดีของท่านเป็นอนุสรณ์ไว้ ให้ลูกศิษย์ลูกหาได้ทรงจำและเป็นแบบอย่างอันดีงามแก่ครูบุคลากร นักเรียนและบุตรหลานสืบไป

ผู้รวบรวมและจัดทำประวัติ : นายวสิน ศรีสุนนท์ ประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนนารายณ์ดำผงวิทยา



Leave a Comment