[สภานักเรียน] การเป็นพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย ต้องเป็นแบบใด ความเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย

การจะเป็นพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตยนั้น ประชาชนจะต้องเข้าใจและมีวิถีชีวิตในลักษณะประชาธิปไตย โดยจะต้องอยู่ร่วมกันอย่างสันติภาพ สันติสุข และเสรีภาพ คือประชาชนในสังคมมีความสงบสุข ปลอดภัยและมีอิสระที่จะกระทำการใดๆ ภายใต้ขอบเขตกฏหมาย โดยไม่ล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น

ทั้งนี้จะต้องทำความเข้าใจในลักษณะของประชาธิปไตยว่ามี 3 ลักษณะ คือ
1. ประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นอุดมคติ ซึ่งหมายถึง การมีศรัทธาและความเชื่อมั่นในเหตุผลความสามารถ อิสรภาพและเสรีภาพของมนุษย์
2. ประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นระบบการเมือง และวิธีการจัดระเบียบการปกครอง ซึ่งหมายถึง ระบบการเมืองที่ถือว่าอำนาจสุงสุดเป็นของประชาชนหรือการปกครองของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน
3. ประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นวีถีชีวิต หรือการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งหมายถึง การอยู่รวมกันและปฏิบัติต่อกันด้วยความเสมอภาคในสิทธิและเสรีภาพของสมาชิกทุกคนไม่ก้าวก่ายในสิทธิของผู้อื่น เคารพกฏเกณฑ์ของสังคม ร่วมกันรับผิดชอบและทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ตลอดจนใช้สติปัญญาแก้ปัญหาโดยสันติวิธี

ความหมายของประชาธิปไตย
– ประชาธิปไตย มาจากคำว่า ประชา+อธิปไตย ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Democracy ซึ่งมาจากคำภาษากรีกว่า Demukratia อันประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ demos (ประชาชน) และ Cratos (การปกครอง) ฉะนั้น ประชาธิปไตย จึงหมายถึง ประชาชนปกครอง หรือการปกครองโดยประชาชน
– ความหมายของประชาธิปไตย ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 หมายถึง “ระบอบการปกครองที่ถือมติของปวงชนเป็นส่วนใหญ่หรือการถือเสียงข้างมากเป็นส่วนใหญ่”
– ศ.ดร.กมล ทองธรรมชาติ ได้ให้ความหมายของประชาธิปไตยว่า “ประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน”

สรุปได้ว่า ประชาธิปไตยนั้นมีความหมายได้สองนัย ได้แก่ ประชาธิปไตยในการดำรงชีวิตร่วมกันของสมาชิกในสังคม หมายถึง รูปแบบของพฤิตกรรมมนุษย์ที่สอคดล้องกับหลักการของประชาธิปไตย และความหมายโดยนัยทางการปกครองในสังคม จะหมายถึง การปกครองที่ประชาชนมีอำนาจและมีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง ในการกำหนดนโยบายในการปกครองประเทศ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวมเป็นหลัก

หลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
1. หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน หมายถึง ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ
2. หลักเสมอภาค ประชาชนทุกคนมีความเท่าเทียมกันภายใต้กฏหมาย ความเท่าเทียมกันทางการเมือง
3. หลักสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ ได้แก่ การที่ประชาชนมีอำนาจอันชอบทำในการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน มีอิสระในการกระทำในขอบเขตของกฏหมายและมีแนวทางปฏิบัติตนที่เป็นอิสระภายใต้ขอบเขตของกฏหมาย
4. หลักนิติธรรม การปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีหลักกฏหมายเป็นกฏเกณฑ์และกติกาของประเทศ คือ การที่ประชาชนใช้กฏหมายเป็นหลักในการทำงานเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและเกิดความยุติธรรมในสังคม
5. หลักการยอมรับเสียงข้างมาก คือ การที่ประชาชนในรัฐใช้มติของประชาชนส่วนใหญ่เป็นหลักในการทำงาน
6. หลักการใช้เหตุผล คือ การที่ประชาชนใช้หลักเหตุผลเป็นหลักในการหาข้อสรุปเพื่อทำงานรวมกันหรือการอยู่ร่วมกัน
7. หลักประนีประนอม คือ การที่ประชาชนไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา แต่ใช้การตกลงร่วมกันในการขจัดข้อขัดแย้งที่ไม่เห็นด้วย
8. หลักการยินยอม คือ การที่ประชาชนใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจเป็นตัวของตัวเองโดยปราศจากการบังคับ มีความเห็นตรงกันจึงตัดสินใจผ่านตัวแทนของประชาชนในการดำเนินงานทางการเมืองและการปกครอง

ลักษณะของสังคมประชาธิปไตย : ในสังคมประชาธิปไตย ประชาชนจะปฏิบัติต่อกัน ดังนี้
1. การเคารพในสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ตามขอบเขตที่บัญญัติไว้ในกฏหมาย

2. การใช้หลักเหตุผลในการตัดสินปัญหา ข้อขัดแย้ง
3. การเคารพในกฏ กติกาของสังคมเพื่อความสงบสุขและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคม
4. การมีส่วนร่วมในกิจกรรมของส่วนรวมและสังคม
5. การมีน้ำใจเป็นประชาธิปไตย ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน
6. การยึดมั่นในหลักความยุติธรรม และการปฏิบัติต่อกันอย่างสม่ำเสมอภาคเท่าเทียมกันของสมาชิกทุกคนในสังคม

คุณลักษณะที่สำคัญของสมาชิกในสังคมประชาธิปไตย
1. มีความยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย
2. มีการรู้จักใช้ปัญญา เหตุผลในการแก้ปัญหา
3. รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ซึ่งมีเหตุผลและมีการประนีประนอมกันในทางความคิด
4. เคารพในสิทธิและการตัดสินใจของผู้อื่น
5. มีความเสียสละและเห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าส่วนตน
6. สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น
7. ใช้เสียงข้างมากโดยไม่ละเมิดสิทธิเสียงข้างน้อย
8. ยึดถือหลักความเสมอภาคและเท่าเทียมกันของสมาชิก
9. ปฏิบัติตนตามกฏข้อบังคับของสังคม
10. ปฏิบัติตนตามหลักศีลธรรม ยึดมั่นในวัฒนธรรม ประเพณี
11. รู้จักแก้ปัญหาโดยสันติวิธี
12. เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี
13. มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ความสำคัญของการปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีตามวีถีประชาธิปไตย
1. ทำให้สังคมและประเทศชาติมีการพัฒนาไปอย่างมั่นคง
2. เกิดความรักและความสามัคคีในหมู่คณะ
3. สังคมมีความเป็นระเบียบ สงบเรียบร้อย
4. สมาชิกทุกคนได้รับสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ จากกฏหมายความเท่าเทียมกัน เกิดความเป็นธรรมในสังคม
5. สมาชิกในสังคมมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และมีน้ำใจต่อกัน

คุณค่าของประชาธิปไตย

ก. คุณค่าทางการเมือง
1. ประชาชนมีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร
2. ประชาชนมีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงตัวผู้ปกครองรัฐ เมื่อนำการบริหารงานผิดพลาด
3. คุณค่าทางเศรษฐกิจ
4. ประชาชนเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตได้
5. ประชาชนมีเสรีภาพในการผลิต การบริการ การลงทุนต่างๆ
6. ประชาชนมีอำนาจในการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้า
7. ประชาชนได้รับการคุ้มครองจากรัฐอย่างเป็นธรรมในการรับบริการทางเศรษฐกิจ

ข. คุณค่าทางสังคม
1. ประชาชนมีโอกาสได้รับความคุ้มครองจากรัฐในด้านสิทธิมนุษยชน
2. ประชาชนมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์
3. ประชาชนมีความเท่าเทียมกันในโอกาสและสิทธิในการดำเนินชีวิตภายใต้บทบัญญัติแห่งกฏหมาย
4. ประชาชนรู้จักอยู่ร่วมกันโดยสันติวิธี
5. ประชาชนร่วมมือกันทำงานเพื่อความสงบสุขในรัฐ

คุณธรรมของการเป็นพลเมืองดีในสังคมประชาธิปไตยระดับประเทศชาติ

คนดี หมายถึง การเป็นคนที่มีคุณธรรม จริยธรรม ตามหลักศีลธรรมและค่านิยมที่ดีงามในสังคม การเป็นพลเมืองดีในสังคมประชาธิปไตยมีความหมายและขอบเขตข้อจำกัดมากกว่าการเป็นคนดีโดยทั่วไป พลเมืองดี นอกจากจะเป็นคนที่มีคุณธรรม จริยธรรมแล้ว ยังต้องประกอบด้วยคุณลักษณะของระบบการปกครองตามอุดมการณ์ทางการเมืองของรัฐนั้นๆ

การเป็นพลเมืองดีในสังคมประชาธิปไตย หมายถึง การที่พลเมืองมีหลักการดำเนินชีวิตที่มีคุณธรรม จริยธรรม และมีบทบาทในการกระทำที่มีคุณลักษณะทางประชาธิปไตยเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการดำเนินชีวิต คุณธรรมของการเป็นพลเมืองดีในสังคมประชาธิปไตยมีดังนี้

ความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ หมายถึง การที่บุคคลมีความสำนึกถึงความสำคัญของความเป็นคนไทย มีจิตใจฝักใฝ่ศาสนา และตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ ปฏิบัติตนในการผดุงรักษาสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ให้คงอยู่คู่สังคมไทยตลอดไป
– การยึดมั่นในหลักธรรมของศาสนาที่ตนเองนับถือ ทุกศาสนามีหลักศีลธรรมที่ช่วยสร้างจิตใจของคนให้กระทำดี ไม่เบียดเบียนกัน มีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กัน สมาชิกในสังคมสมควรศรัทธาในศาสนาที่ตนนับถือ แล้วปฏิบัติตามหลักศีลธรรมของศาสนาที่ตนนับถืออย่างสม่ำเสมอ
– ความซื่อสัตย์ หมายถึง การกระทำที่ถูกต้อง ตรงไปตรงมา ไม่ยึดเอาสิ่งของผู้อื่นมาเป็นของตน บุคคลควรซื่อสัตย์ต่อตนเอง คือ กระทำตนให้เป็นคนดี และบุคคลควรซื่อสัตย์ต่อบุคคลอื่นๆ หมายถึงกระทำดีและถูกต้องตามหน้าที่ต่อผู้อื่น
– ความเสียสละ หมายถึง การคำนึงถึงประโยชน์ของสังคมส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน และยอมเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นและส่วนรวม
– ความรับผิดชอบ หมายถึง การยอมรับการกระทำของตนเองหรือการทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จลุล่วง
– การมีระเบียบวินัย หมายถึง การกระทำที่ถูกต้องตามกฏเกณฑ์ที่สังคมกำหนดไว้
– การตรงต่อเวลา หมายถึง การทำงานหรือทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงทันตรงตามเวลาที่กำหนดโดยใช้เวลาอย่างคุ้มค่า
– ความกล้าหาญทางจริยธรรม หมายถึง การกระทำที่แสดงออกในทางที่ถูกที่ควรโดยไม่เกรงกลัวอิทธิพลใดๆ ความกล้านี้ไม่ใช่การอวดดี แต่เป็นการแสดงออกอย่างมีเหตุผล เพื่อความถูกต้อง

ที่มา : https://jiab007.wordpress.com/2011/11/05/



Leave a Comment