สรุปหนังสือ 7 อุปนิสัยของผู้มีประสิทธิผลสูง (The 7 Habits of Highly Effective People) แบบเข้าใจง่ายที่สุด

คนส่วนใหญ่เชื่อว่าผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของโลกทั้งหลาย เกิดมาพร้อมความเป็น ‘ผู้นำ’ ยากที่คนธรรมดาทั่วไปจะเป็นผู้นำได้ แต่ผลวิจัยจากหลากหลายสาขา ทั้งด้านความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social Emotional Learning) และจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า “ทุกคนหรือแม้แต่เด็กก็สามารถเรียนรู้และพัฒนาเป็นผู้นำได้”

ดร.สตีเฟน อาร์. โควีย์ (Dr. Stephen R. Covey) เจ้าของผลงาน 7 อุปนิสัยของผู้มีประสิทธิผลสูง (The 7 Habits of Highly Effective People) ชี้ชัดว่า ทุกคน ‘เลือก’ ที่จะเป็นผู้นำได้ อย่างน้อยที่สุดคือ เริ่มจากการเป็น “ผู้นำในตัวเอง” คือ “เป็นผู้กำหนดชีวิตและทางเลือกด้วยตัวเอง ไม่หยุดพัฒนา และมุ่งทำประโยชน์และมอบสิ่งดีๆ ให้ผู้อื่น” นี่คือ หัวใจสำคัญของการเป็นผู้นำที่ทุกคนสามารถเป็นได้

7 อุปนิสัยของ ดร.สตีเฟน อาร์. โควีย์ ประกอบด้วย

อุปนิสัยที่ 1 : ต้องเป็นฝ่ายเริ่มต้นทำก่อน (Be Proactive) (Individuals are responsible for their own choices and have the freedom to choose): ตัวเองเป็นผู้กำหนดชีวิตของตัวเอง เป็นผู้เลือกที่จะทำหรือจะไม่ทำสิ่งใดๆ ด้วยเหตุด้วยผลของตัวเขาเอง ไม่ให้ตนเองตกอยู่ในสถานการณ์เป็นผู้ถูกกระทำ (ทุกคนมีอิสระในการเลือกที่จะทำอะไร แต่ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตามมาจากสิ่งที่เราเลือก)

อุปนิสัยที่ 2 : เริ่มต้นด้วยจุดมุ่งหมายในใจ (Begin with the End in Mind) (Mental creation precedes physical creation) : มีการตั้งเป้าหมายในชีวิต มีความแน่วแน่ ที่จะปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยไม่ไขว้เขวไปทางเลือกอื่น ทั้งนี้ การฝึกฝน อุปนิสัยที่ 2 นี้ ต้องเริ่มต้นที่ ต้องตั้ง Personal Mission ก่อน แล้ว จาก Personal Mission ค่อยๆ แตกมาเป็น Activity ย่อยๆ ในการทำอะไรในแต่ละช่วงของชีวิต และ ทบทวนสิ่งที่เรากระทำว่า support หรือ เป็นไปตาม Mission ที่เราอยากได้ หรือ อยากเป็น หรือไม่

อุปนิสัยที่ 3 : ทำสิ่งที่สำคัญก่อน (Put First Things First) (Effectiveness requires balancing important relationships, roles, and activities.) จัดลำดับความสำคัญ ของงานและเวลาว่าอะไรทำก่อนอะไรทำหลัง เช่น
ก) สำคัญและเร่งด่วน – ต้องทำโดยเร็วที่สุด และต้องทำให้ดีด้วย อันนี้เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดหากวางแผนไว้ดี
ข) สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน – เป็นเรื่องที่น่าจะทำได้ดีที่สุด รีบทำเสียเนิ่นๆ จะได้ทำได้ดี และไม่กลายเป็นข้อ ก) ในที่สุด
ค) ไม่สำคัญแต่เร่งด่วน – อันนี้แปลก ต้องรีบทำนะ แต่จริงๆ ไม่ทำก็ได้ เช่น ดูละครทีวีที่กำลังฉาย เป็นต้น
ง) ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน – ไม่ทำก็ได้ แต่หลายๆ คนก็ให้เวลากับส่วนนี้อยู่มาก
สรุปคือ ต้องเลือกทำในข้อ ก & ข และ พยายามอย่าปล่อยให้ ข้อ ข กลายมาเป็นข้อ ก (Try to Keep Schedule)

อุปนิสัยที่ 4 : คิดแบบชนะ-ชนะ Think Win-Win (Effective long-term relationships require mutual benefit): การคิดและทำแบบ win-win นี้ จะต้องเกิดอยู่บนพื้นฐานของทัศนคติที่ดีและต้องการให้ได้ประโยชน์เท่าเทียม กันทั้งสองฝ่ายในระยะยาว ในบางครั้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะต้องเสียเปรียบก่อน แต่ในที่สุดแล้ว เมื่อดำเนินการตามแผนทั้งหมดแล้ว ทั้งสองฝ่ายจะต้องได้ประโยชน์ทั้งคู่เท่าเทียมกัน ทั้งนี้ จุดประสงค์ ของ การฝึกนิสัยที่ 4 คือ การสร้าง ความเชื่อซึ่งกันและกัน (Interpersonal Thrust )

อุปนิสัยที่ 5 : เข้าใจผู้อื่นก่อน แล้วจึงให้ผู้อื่นเข้าใจเรา (Seek First to Understand, Then to Be Understood) : การพยายามเข้าใจคนอื่นนั้น ง่ายกว่าการที่จะทำให้คนอื่นเขามาเข้าใจเรา หลักการที่จะทำให้เราเข้าใจคนอื่นได้ง่ายนั้นจะต้องเริ่มต้นด้วยการฟัง คือ ฟังอย่างพยายามทำความเข้าใจ เมื่อเราเข้าใจเขา เราก็จะรู้ว่าเขาคิดอย่างไร มีพื้นฐานอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ต่อมาเราจะพูดเพื่อให้เขาเข้าใจในส่วนของเราก็จะเป็นเรื่องง่ายขึ้น

อุปนิสัยที่ 6 : ผนึกพลังประสานความต่าง (Synergize) (ผลรวมที่ได้รับทั้งหมดมีค่ามากกว่าการเอา แต่ละส่วนมาร่วมกัน):
ยอมรับในความแตกต่างของคนอื่น และมองว่าความแตกต่างนั้นน่าจะมีประโยชน์มากกว่าโทษ และนำข้อดีของความแตกต่างนั้นมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เสริมทีมให้แข็งแกร่ง จากความสามารถที่แตกต่างของแต่ละคน การเกิด Synergize ไม่ใช่การหารือร่วมกันเพื่อเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่งของแต่ละคน แต่เป็นการนำข้อดีของแนวทางของแต่ละคน มารวมกันเป็นทางเลือกใหม่ ให้มีประสิทธิผลมากขึ้นกว่าการนำแนวทางของแต่ละคนมารวมกัน

อุปนิสัยที่ 7 : ฝึกฝนตนเองให้พร้อมเสมอ (Sharpen the saw): ดูแลตนเอง สร้างสมดุลให้ชีวิตของตนเองทุกมิติ โดยแบ่งเป็น
-การฝึกฝนด้านกายภาพ (ทำร่างกายให้สมบูรณ์)
-การฝึกฝนด้านสติปัญญา (อ่าน หนังสือ หาความรู้ใหม่อยู่เสมอ)
-การฝึกฝนด้านจิตวิญญาณ ( ทำสมาธิ หรือ การใช้เวลากับธรรมชาติ)
-การฝึกฝนด้านสังคม/ อารมณ์ (เพิ่มบัญชีเงินฝาก ใน บัญชีออมใจ กับ คนรอบๆ ข้างเรา เป็นประจำ)

สตีเฟน โควีย์ กล่าวถึงการปลูกฝังเรื่อง หลักการของ 7 อุปนิสัยว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะถือเป็นการวางพื้นฐานด้านความคิดและความเป็นตัวตนของเด็ก ไม่อย่างนั้นลูกหลานของเราอาจตกเป็นเหยื่อของ “การถูกเปรียบเทียบ” กับคนรอบข้าง “ใครมีมากกว่ากัน” “ใครเก่งกว่ากัน” ทำให้อาจสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเองและกังวลกับ “ภาพพจน์ของตัวเองมากกว่าตัวตนจริง ๆ ของเขา”

เรียบเรียงโดย นายศักดิ์อนันต์ อนันตสุข
ข้อมูลประกอบการเรียบเรียงจาก
1. https://www.pacrimgroup.com/blog/4-ways-build-young-leader/
2. https://th.wikipedia.org/wiki/7_อุปนิสัยพัฒนาสู่ผู้มีประสิทธิภาพสูง
3. http://www.thaigoodview.com/node/23588
4. http://kimlookingglass.blogspot.com/2014/06/7.html
5. http://www.impressionconsult.com/web/index.php/articles/1486-อุปนิสัย-7-ประการ-ที่เราควรมี -7-habits.html

ที่มาภาพ http://www.chowrangi.pk/wp-content/uploads/2012/07/6a00d8341c630a53ef0167688cf373970b-800wi1.jpg:



Leave a Comment